Skip to content
Content

ทำไม ‘เด็กสมัยนี้’ ช่างสงสัย แล้วทำไม ‘ผู้ใหญ่’ ถึงโกรธที่ถูกตั้งคำถาม

‘เด็กสมัยนี้นี่มัน…’ ถ้าคุณเคยพูดคำนี้แสดงว่าคุณไม่เด็กแล้วนะ และในขณะเดียวกัน เด็กที่เคยได้ยินคำนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณทำอะไรผิดแต่อย่างใด แต่แสดงว่าคุณมีความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
.
วันนี้ขายหัวเราะจะมาอธิบายว่า เด็กสมัยนี้ช่างสงสัยเพราะอะไร มองโลกไม่เหมือนผู้ใหญ่ยังไง แล้วผู้ใหญ่ล่ะคิดอะไร เด็กถามอะไรทำไมต้องหงุดหงิดด้วยนะ
.
ป.ล. อัลบั้มนี้เหมาะกับคนทุกวัย เด็กหรือผู้ใหญ่อ่านได้หมดนะจ๊ะ

ผู้ใหญ่ที่มักขัดคอกับเด็กเมื่อตั้งคำถามก็มีหลายช่วงวัย และไม่ชอบใจวัยรุ่นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

กลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 โตมาในครอบครัวใหญ่ พี่น้องเยอะ เติบโตมาได้โดยการตามรอยผู้ใหญ่ ให้คุณค่ากับความเคารพผู้ใหญ่ ความอดทน และความทุ่มเทในการงาน-การเรียน

Gen X เกิดบนรอยต่อจึงปรับตัวได้เก่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ได้รับอิทธิพลจากยุค Baby Boomer บ้างแต่ไม่มากเท่า เริ่มตั้งคำถามกับสังคมจึงมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนและไม่ชอบอะไรที่เป็นทางการ (แบบที่รุ่นก่อนหน้าชอบ) ให้คุณค่ากับความสุข ความสบายใจ

Gen Z ก็คือบรรดาวัยรุ่นที่เกิด พ.ศ. 2541 – 2552 พวกเขาได้รับความรักจากครอบครัวอย่างเต็มเปี่ยม ได้รับการศึกษาที่ดี จึงมีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก ใช้สื่อออนไลน์มากกว่าจึงเห็นโลกแบบสากลกว่า เกิดการเปรียบเทียบระหว่างสังคมที่เขาเผชิญกับสังคมอื่นได้ง่าย และเพราะเติบโตมาแบบไม่ผ่านสงครามระหว่างประเทศ จึงไม่ถูกปลูกฝังเรื่องชาตินิยมหรือความเป็นปึกแผ่นมากนัก การแบ่งแยกชนชั้น ศาสนา หรือประเพณี จึงน้อยลงกว่าคนรุ่นก่อนๆ และมองความเท่าเทียมเป็นใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นนี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี เพราะเขาอยู่ในยุคที่ทรัพยากรร่อยหรอจนใจหาย

พอไม่ยึดถือแนวคิดชาตินิยมและไม่มองว่าผู้ใหญ่คือคนที่จะตั้งคำถามไม่ได้ เขาเลยไม่รู้สึกผิดที่จะตั้งคำถามกับทางเท้าที่แคบมาก กับชุดนักเรียนว่ายังจำเป็นหรือเปล่า หรือว่านโยบายเรื่องวัคซีนของรัฐบาลเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่

นอกจากจะให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ ของคนแต่ละ Gen จะต่างกันแล้ว พอแยกย่อยลงไปที่ตัวผู้ใหญ่เอง ชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เขาไม่สามารถมองวัยรุ่นอย่างเป็นกลางได้เลย

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา ทำการสำรวจจากผู้ใหญ่ชาวอเมริกันอายุ 33-51 ปี จำนวน 3,458 คน เกี่ยวกับทัศนคติที่พวกเขามีต่อวัยรุ่นสมัยนี้ พบว่าพวกเขามักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กสมัยนี้มันแย่กว่าสมัยก่อนเยอะ” และมักจะประเมินเด็กๆ ด้วยเกณฑ์ของตัวเองเสมอ และไม่ใช้เกณฑ์อื่นที่ตนเองไม่เข้าใจ

ผู้ใหญ่ที่ชื่นชมแนวคิดอนุรักษนิยม มักมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ที่ไอคิวสูงมองว่าเด็กสมัยนี้โง่เขลา ผู้ใหญ่ที่รักการอ่านมักมองว่าเด็กสมัยนี้อ่านหนังสือไม่เป็น แต่ทั้งหมดเป็นการประเมินโดยอิงกับ ‘ตัวเขาเอง’

เพราะเขาไม่ตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ (ตอนเป็นวัยรุ่น) เด็กที่ตั้งคำถามจึงก้าวร้าว เพราะเขาอ่านหนังสือเยอะ จึงมองว่าเด็กที่อ่านบทความออนไลน์นั้นอ่านน้อยกว่าเขา ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันอาจเทียบกันไม่ได้

นอกจากการประเมินเด็กโดยใช้เกณฑ์ของตัวเอง ยังมีความโหยหาอดีตของผู้ใหญ่ที่ทำให้จูนกับวัยรุ่นไม่ได้ง่ายๆ

ปู่ย่าตายายมักอินกับอดีต เพราะมันฉายภาพยุคที่เขายังรุ่งเรือง อะไรที่นิยมในยุคของเขาจะต้องถูกอนุรักษ์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน วัฒนธรรม อาหาร ค่านิยม ไปลบล้างหรือตั้งคำถามเขาก็ไม่พอใจ

ส่วนพ่อแม่เองนอกจากเป็นห่วงลูกแล้ว จะยังติดอยู่กับช่วงเวลาที่วัยรุ่นยังเป็นเด็กน้อย ลูกวัยซนที่มองพ่อแม่เป็นทุกอย่าง ยังต้องคอยโอ๋ คอยประคอง อยู่ดีๆ มาตั้งคำถามเป็นชุด บอกอะไรก็ไม่ฟัง ติดเพื่อน ฟังคนอื่นมากกว่า ไม่แปลกเลยที่เขาจะยังรับไม่ได้

บางคำถามอาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ที่มาของคำถามมาจากความต้องการจะเข้าใจ

✔ ชุดนักเรียน = ทำให้เด็กไม่แข่งกันแต่งตัวจริงหรือเปล่า หรือก็แข่งอยู่ดี เสียเงินค่าชุดเพิ่มจากเสื้อผ้าอยู่บ้านอีกต่างหาก
✔ เข้าแถวตอนเช้า = จำเป็นจริงไหม ในเมื่อเราสวดมนต์ที่ห้องเรียนก็ได้ ข่าวสารอะไรครูก็บอกแทนได้ แถมยังไม่ต้องตากแดด

ถึงจะค้านกับสิ่งที่ผู้ใหญ่เชื่อ แต่เขาตั้งคำถามกับเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่ที่ตัวของผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้ามองคำถามเป็นคำถาม ถกกันด้วยเหตุและผล จะเห็นได้ว่ามันไม่มีเหตุต้องโกรธแต่อย่างใด

ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจกัน

วัยรุ่นอยู่ในวัยค้นหา เขาต้องการคำตอบที่นำไปสู่วันข้างหน้าที่ดีกว่า จึงต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาไม่เข้าใจเพื่อจะเปลี่ยนแปลง-ปรับปรุงมันให้ได้ แม้จะทำให้ผู้ใหญ่อึดอัด แต่โดยมากเขามักไม่ตั้งใจ

ผู้ใหญ่มีเมื่อวานมากกว่าพรุ่งนี้ จึงมีความสุขกับความทรงจำ มีความเชื่อที่ยึดถือมา มีประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อยิ่งกว่าเดิม การตั้งคำถามด้วยอารมณ์อาจจะทำให้เขารู้สึกถูกท้าทายและไม่เคารพได้

วัยรุ่นต้องเคารพผู้ใหญ่ว่าเขามีอดีตที่เขาหวงแหน มีชุดความคิดที่เขาเชื่อ ซึ่งบางทีก็เปลี่ยนกันวันสองวันไม่ได้

ผู้ใหญ่เองต้องเคารพวัยรุ่นว่าเขามีอนาคตที่ต้องไปต่อ โลกก็เปลี่ยนไปทุกวัน เขาปรับตัวตามโลกได้เร็วกว่าเรา จะบังคับให้เขาทำเหมือนกันกับเราทุกอย่างก็ไม่ได้

ไม่ว่าจะวัยไหนต้องระวังที่จะไม่ใช้อารมณ์ ถกกันด้วยข้อมูล ด้วยเหตุผล ถ้าเริ่มที่จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แยกกันก่อนค่อยว่ากันใหม่ เคารพกันและกัน เพราะถ้าไม่เคารพกันแล้ว เราจะทำร้ายกันเรื่อยไป

.

ขอบคุณข้อมูลจาก

▸ บทความ 7 ขั้นตอนอยู่กับวัยรุ่นที่ไม่ฟังพ่อแม่อีกแล้ว โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1251
https://www.the101.world/we-are-youngster/
https://thestandard.co/the-kids-these-days-effect/
https://www.matichonacademy.com/content/lifestyle/article_38215
https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/7-attitudes-and-behaviour-gen-z-thailand/
https://www.the101.world/family-generation/
https://thematter.co/thinkers/war-of-generations/70877

ก่อนความสัมพันธ์จะยุ่งเหยิงเกินแก้

🥲 สื่อสารกันให้เข้าใจก่อนความสัมพันธ์จะยุ่งเหยิงเกินแก้ แต่ถ้าพบเห็นสายสื่อสารรกรุงรัง ตกหย่อน เป็นอันตรายแจ้งได้ที่ ผู้ให้บริการเจ้าของสาย ...